My Journey การใส่เลนส์เสริม ICL แก้ไขสายตาสั้น+เอียง (Part-1)

amazemay
3 min readNov 9, 2020

--

หวัดดีค่าทุกคน บทความนี้จะแชร์ประสบการณ์ในการตัดสินใจใส่เลนส์เสริม ICL ของเรา หวังว่าจะช่วยเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจสำหรับคนที่คิดจะผ่าตัดแก้ไขสายตานะคะ

หลายคนคงจะเคยได้ยินการผ่าตัดแก้ไขสายตาสั้น/ยาว/เอียง ในรูปแบบการใช้เลเซอร์ หรือที่เรียกว่า Lasik กันมาบ้าง ซึ่งการใช้เลเซอร์ก็ยังมีเทคโนโลยีที่แตกต่างเฉพาะกันไปย่อยๆอีก ได้แก่ Lasik, Femtosecond Laser, Relex เราขอเรียกรวมๆว่า เลเซอร์หมดเลยนะคะ

แต่ในที่นี้เราจะพูดถึง วิธีที่แตกต่างออกไป นั่นก็คือ การใส่เลนส์เสริม ICL ซึ่งสามารถแก้ไขภาวะสายตาสั้น/ยาว/เอียง ได้เหมือนกับเลเซอร์ แต่จะแตกต่างจากเลเซอร์ยังไง และเหมาะกับใครบ้าง พาร์ทแรกนี้เราจะเล่าข้อมูลความรู้ และข้อมูลพื้นฐาน ค่าสายตาของเรา การตัดสินใจ และการเตรียมตัวต่างๆของเราเอง

เล่าสภาพตาของเรา การหาข้อมูล และการตัดสินใจ

เดิมทีเราเป็นคนสายตาสั้นตั้งแต่เด็กเลย start แว่นครั้งแรกในชีวิต -1.75 ถือว่าก็เยอะนะสำหรับเด็ก 9 ขวบ จากนั้นก็สั้นมาเรื่อยๆ เริ่มใส่ contact lens ช่วงม.ปลาย จำค่าสายตาไม่ได้ 5555 น่าจะ -6.50 แล้วก็ขยับมาเรื่อยๆ จนปัจจุบัน 27 ปี ใส่เลนส์รายเดือนที่ -9.00 และแว่นสายตา -10.00 กับอีกข้าง -10.50 ซึ่งก็ไม่ได้จะชัดเป๊ะใดๆเลย แว่นตามันมีข้อจำกัดตรงที่ มองไกลไม่ชัด ถ้าเลือกชัดเกินไป ก็จะมองใกล้ปวดหัว -_- ก็เลยเกลียดการใส่แว่นมากกกกกกกก เราจะรู้ค่าสายตาตัวเองแต่ละครั้ง ก็ตอนไปตัดแว่นใหม่ ทุก3ปี ก็จะมีค่าสายตาเพิ่มขึ้นนิดหน่อย เราใส่คอนแท็กเลนส์แบบรายเดือนมาร่วม 12 ปี เกือบทุกวัน จะใส่แว่นเฉพาะเวลานอน จุดนั้นเราเองก็ทนสภาพตัวเองไม่ไหวละ ตาก็แห้งบ่อย แม้จะได้ยินการทำเลสิกมาเนิ่นนาน แต่ก็ไม่ได้ไปตรวจจริงจังเสียที เรานิสัยเสียด้วยตรงที่ไม่ติดตามตรวจสภาพตาตัวเองอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ใส่คอนแทกเลนส์เป็น เมื่อรู้สึกว่ามันไม่ชัด ก็เก่งกล้าเพิ่มค่าสายตาเองตลอด อย่าหาทำ บอกแค่นี้5555

ทีนี้ปัญหามันอยู่ตรงนี้ค่ะ หลังจากหาข้อมูลการทำเลสิกได้ไม่นาน ก็ค้นพบว่า สายตาสั้นมากเกิน -10.00 มีโอกาสที่จะทำเลสิก Lasik ไม่ได้ หรือทำแล้วค่าสายตาไม่ได้เหลือค่าปกติ ก็คือทำแล้วยังเห็นไม่ชัด ทีนี้เราก็เริ่มเครียดละ ยังไงดี แต่ก็มองหาเทคโนโลยีที่สูงขึ้นไป เราเองก็เข้าข้างตัวเอง ได้ยินมาว่ามันก็ขึ้นอยู่กับค่าความหนาของกระจกตาด้วย บางคนก็สั้นเป็นพัน แต่กระจกตาหนา ก็น่าจะทำได้นะ เราก็หวังว่าจะสามารถไปตรวจและทำเลสิกได้ ก็เลยเล็งแบบ Femto เอาไว้ ที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง เพราะเป็นเทคโนโลยีที่ไม่มีการใช้ใบมีด จะรบกวนกระจกตาน้อยกว่า แต่! โดนเบรคจากเจ้าหน้าที่นัดตรวจว่า สั้นเกิน -10.00 ไม่แนะนำเลยนะคะคุณผู้หญิง ดิชั้นตาเหลือกค่ะ เหมือนโลกถล่ม 5555555 นับจากตอนนั้นก็เริ่มแพนิคจริงๆ คิดว่าทำแบบเลเซอร์ไม่ได้แน่ๆ แต่ยังแอบมีความหวังในใจว่าเราจะมีช้อยส์ ระหว่าง Relex หรือ ICL ก็เลยตัดสินใจหาที่ตรวจใหม่ ที่มีคุณหมอที่เชี่ยวชาญให้คำแนะนำสำหรับข้อดีข้อเสียของเทคโนโลยีทั้งสองแบบให้เรา

รอบแรกเราไปตรวจที่ศูนย์เลสิกเอกชนแห่งนึง แถวๆสีลม ที่นี่ราคาค่อนข้างแพง แต่บริการดีมากๆๆๆ ต้องยอมรับเลย ใส่ใจสุดๆ หลังจากไปตรวจก็ต้องโดนคุณหมอดับฝัน ท่านไม่แนะนำให้ทำ Relex เพราะถึงแม้ค่าความหนากระจกตาเราจะหนากว่าคนปกติ (คนปกติประมาณ 530 ไมครอน ของเรา 550–570 ก็ยังไม่คุ้มที่จะไปเกลาปรับกระจกตา) หมอเลยแนะนำ ICL ซึ่งราคาแพงเป็น 2 เท่าของการทำเลสิกเสียอีก ราคาในไทยคร่าวๆ จะอยู่ที่ 180k — 250k แล้วแต่ที่ค่ะ ;-; เป็นเงินจำนวนไม่น้อยสำหรับเราเลย ก็เลยต้องตัดสินใจหนักหน่อย เราเลยตั้งใจจะไปตรวจอีกครั้งที่ รพ. กรุงเทพ ที่นี่พี่ที่รู้จักแนะนำมาจากการทำ Relex แล้วเราเห็นว่ามี ICL เป็นอีกทางเลือกด้วย เลยหาข้อมูลแพทย์ที่ประจำที่นั่นจนมั่นใจ เราเลยนัดเลย ขอให้คุณหมอฟันธงไปเลยว่า อย่างเราควรจะ Relex หรือ ICL ดี? แต่ใจเราอ่ะ พร้อมเสียเงินกับ ICL ละนะ 5555 เพราะอะไร เดี๋ยวเล่าข้อดีข้อเสียพาร์ทถัดไปค่ะ

ตรวจครั้งที่ 2 ที่ รพ. กรุงเทพ กับ พญ. ฐิดานันท์ เราตั้งใจขอนัดกับท่านนี้เลย เพราะท่านเชี่ยวชาญด้านเลนส์เสริม ICL หลังจากพบคุณหมอ ท่านก็ว่างั้นแหละค่ะ 555 ตามที่ตรวจที่แรกแนะนำเลย เนื่องด้วย ค่าสายตาเราเยอะ มีเอียงด้วยนิดหน่อย ทั้งสั้นและเอียง ค่าสายตาก็รวมกันข้างนึงก็ เกิน -12.00 แล้ว บวกเรามีอาการตาแห้งนิดๆ เพราะใส่คอนแท็กเลนส์มานาน ฉะนั้นก็จะเสี่ยงเกินไป หากเราจะเกลาปรับกระจกตาด้วยเลเซอร์ จริงๆแล้วหมอบอกว่าตาเราก็แก้ไขด้วยเลเซอร์ได้นะ แต่มันก็จะทำได้ครั้งเดียวอะ เพราะเมื่อกระจกตามันบางแล้วบางเลย คุณหมอเลยไม่แนะนำ ยิ่งสายตาเยอะ โอกาสที่จะค่าสายตาหายเป็น 0 เลย มันก็น้อยลง ฉะนั้นการประเมินตรงนี้มันขึ้นอยู่กับ ค่าสายตา และค่าความหนากระจกตาของเราด้วย คุณหมอก็มีถามว่า เราสายตาคงที่แล้วจริงๆใช่ไหม สายตาขึ้นมาจากปีก่อน <-0.50 ไหม (นิดหน่อยค่ะหมอ555) ตรงนี้มันก็เสี่ยงสำหรับเราด้วย ถ้าเกิดวันนึง 5–10 ปี เราจะสั้นขึ้นอีก แล้วดันแก้ไขเติมเลเซอร์อะไรไม่ได้แล้ว ก็ไม่คุ้มที่จะทำเลสิก เตือนเลยนะคะว่าต้องดูแลรักษาตากันดีๆ ถ้าไม่อยากสั้นมากขึ้น ก็ต้องพักตา เลิกเล่นโทรศัพท์ในที่มืดค่ะ การใช้ชีวิตของเราก็มีส่วนที่จะทำให้ค่าสายตาเราแย่ขึ้นมากๆ (นอกเรื่องนิดนึง เรารู้สึกว่าตาเราเบลอๆขึ้น ตั้งแต่ ปลายปี 2019 ใช้ iphone11promax คืออัพเกรดมือถือตัวเอง จากเดิมจอ ips ของ iphone7plus มาเป็นจอ oled รู้สึกว่าแสงมันแรงมากจริง คอนทราสต์หนัก เราคิดว่ามีส่วนด้วย เพราะติดมือถือมาก ;-; )

ดังนั้น ในเมื่อมันมีเทคโนโลยีที่ผลิตมาเพื่อคนที่ไม่สามารถทำเลเซอร์ได้ หรือไม่อยากให้กระจกตาบางลงอย่างเรา มันก็น่าจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ หลังจากที่เราฟังคุณหมอเล่าข้อดีข้อเสียต่างๆให้ฟัง เราเลยรู้สึกมั่นใจมากขึ้นที่จะทำ

ICL คืออะไร?

ICL ย่อมาจาก Implantable Collamer Lens หรือเรียกไทยสั้นๆว่า เลนส์เสริม ICL
“เป็นเลนส์เสริมชนิดพิเศษ ที่ออกแบบมาเพื่อแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติ (สายตาสั้น,สายตายาว และสายตาเอียง) วัสดุในการผลิตทำจากธรรมชาติไม่ระคายเคืองตา จึงทำให้ ICL มีคุณสมบัติเด่นคือ มีความสามารถเข้ากันได้ดีกับร่างกาย โดยไม่เกิดปฏิกริยาต่อต้านเมื่อใส่ ICL เข้าไปในดวงตาและยังมีความคมชัดในการมองเห็นสูงอีกด้วย” — (ข้อมูลจาก Filtech Enterprise: บริษัทที่นำเข้าเลนส์ชนิดนี้โดยเฉพาะ)

เลนส์ตัวนี้ จะถูกฝังเข้าไปด้านหน้าเลนส์แก้วตาของเรา แต่จะไม่ไปลดความหนาบางของกระจกตา ตัวเลนส์จะอยู่ที่หลังกระจกตา จะมีการเปิดแผลประมาณ 3 มม เพื่อใส่เลนส์ตัวนี้ที่สั่งตัดสำหรับเราโดยเฉพาะเข้าไป ใส่แล้วจะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่านะคะ ปกติเลย หมอบอกว่ายิ่งคนเอเชียตาน้ำตาลดำเนี่ย นิยมทำกันเลย เพราะว่ามันเนียนไปกับลูกตา

ตำแหน่งของเลนส์เสริมที่จะใส่เข้าไปในตาเรา

ดูภาพอาจจะดูน่ากลัวนิดนึง 55555 แต่พอฟังว่า ไม่ต้องขัด ต้องเกลาสายตามันก็ฟังดูน่าสนใจ ต่อไปเราขอเล่าข้อดี ข้อเสียตามการประเมินของเราที่เรารับฟังมาจากคุณหมอนะคะ ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเลนส์นี้สามารถหาอ่านได้จากเว็บ Thaiicl เช่นกัน ก็จะขายของหน่อยๆ 555

ข้อดีของการผ่าตัดใส่เลนส์เสริม ICL

  • ไม่มีการรบกวนกระจกตา ไม่ขัด ไม่เกลา ฉะนั้นจะเหมาะสำหรับคนที่กระจกตาบางมาก จนไม่สามารถเลเซอร์ใดๆได้
  • ใส่ ICL ไม่ทำให้ตาแห้งเพิ่มขึ้น อาจจะมีช่วงแรกหลังผ่าตัดที่ระคายเคืองจากแผลบ้าง
  • หากค่าสายตาเปลี่ยนแปลงภายหลัง สามารถทำ Lasik ใดๆ เพื่อปรับค่าสายตาได้ เช่น สายตาสั้นขึ้น หรือสายตายาวขึ้น เมื่อแก่ตัว (คนปกติอายุ 40 ขึ้น กล้ามเนื้อตาจะเริ่มล้า และเกิดภาวะสายตายาวตามอายุค่ะ)
  • ไม่พอใจ สามารถนำเลนส์ออกได้ (แต่ก็ราคาแพงนะคะ คงไม่มีใครอยากจะถอดๆใส่ๆเล่น 55555) ในที่นี้คือดีที่ว่า มัน reversible ค่ะ ถอดแล้วตาก็ยังไม่เสียหาย เมื่อเทียบกับการรักษาแบบยิงเลเซอร์ ซึ่งเราไม่สามารถปรับเกลากระจกตาเราได้อีก ถ้าตอนแก่เป็นต้อกระจกแล้วต้องใส่เลนส์เทียม เลนส์เสริมตัวนี้ก็จะสามารถเอาออกได้ในเซสชั่นที่ผ่าต้อเลย

ข้อเสีย/ความเสี่ยงหลังการผ่าตัด

  • หมอบอกอาจจะมีอาการเห็นขอบเลนส์เหมือนตัว C โค้งๆ ลอยขัดขวาง vision ของเรา คล้ายๆเวลามีหยากไย่ในตา หมอบอกว่าเป็นเพราะเลนส์กำลังปรับให้เข้าตาเรา ตรงนี้จะหายไปเองได้ ในเดือนสองเดือน
  • หลังทำ ความดันลูกตาจะสูงขึ้น ซึ่งหมอจะให้ยาลดความดัน และเฝ้าดูอาการหลังผ่าตัดสักพัก ถ้าใครดันสูงมากจริงๆ ก็จำเป็นต้องถอดออก (โอกาสเกิดน้อยมากๆ อันนี้หมอก็พูดให้แอบกลัวนิดนึง555)
  • หลังทำอาจจะมีตาแดง น้ำตามาก คัดจมูก
  • มีโอกาสติดเชื้อ (เช่นเดียวกับการผ่าตัดแบบอื่นๆ 1:10,000 น้อยมากๆๆ แต่เราก็ต้องดูแลตัวเองดีๆหลังทำใหม่ๆนะ อย่าไปโดนตา โดนน้ำ) ประเด็นนี้ หลังใส่เลนส์ ในเซสชั่นผ่าตัด หมอจะฉีดยาฆ่าเชื้อให้นะคะ ซึ่งคุณหมอบอกไว้ก่อนเลยว่า เจ็บค่ะ ไม่มีใครทำแล้วบอกว่าไม่เจ็บ ทุกคนบอกว่าเจ็บ (แต่ทนได้) 555555555 เราไปอ่านรีวิวมาหลายที่ ตรงนี้ก็คือเจ็บจริง หลายคนร้องจ๊ากเลย บางคนบอกว่าเหมือนฉีดยาชาที่เหงือก จี้ดดด ประมาณนั้น เดี๋ยวจะมาเล่าต่อในพาร์ทผ่าตัดนะคะ
  • มีแสงกระจายตอนกลางคืน ในช่วงแรก เป็นเหมือนกันทุกคนไม่ว่าจะทำเลสิกหรือใส่เลนส์เสริม

ICL เหมาะกับใคร?

  • มีค่าสายตาเยอะมาก จนไม่สามารถทำเลเซอร์ได้ทุกชนิต
  • มีกระจกตาที่บาง มันไม่สัมพันธ์กับค่าสายตา จนไม่สามารถเลเซอร์เอาค่าสายตาออกได้หมด
  • อายุ 18–45 ปี
  • ผู้ที่ตาแห้งมาก ก็ทำได้นะ
  • คนที่ไม่อยากทำเลสิก ไม่อยากให้กระจกตาบางลง มาใช้วิธีนี้ก็ได้ (แต่ส่วนใหญ่ถ้ามีทางเลือกอื่น คนก็ไม่ค่อยทำเลนส์เสริมกันค่ะ เพราะมันแพงกว่าหลายเท่าตัว)

หลังจากที่เราตรวจสภาพตาเบื้องต้นแล้ว หมอก็ลงความเห็นว่าเราควรทำแบบไหน ซึ่งก็เหลือแบบเดียวนี่แหละค่ะ 55 หมอบอกเลยว่าหนูมีทางเลือกไม่มากแล้วลูก 55555 ที่นี่คุณหมอวัดเช็คสายตาให้เองเลยอย่างละเอียดค่ะ จะหาค่าสายตาที่เหมาะสมให้เราสบายตาที่สุด ให้ลองมองใกล้ มองไกล ค่าตรงนี้ก็จะเอาไปสั่งตัดเลนส์ค่ะ จากนั้นคุยกับคุณหมอเพื่อวางแผนการรักษา ถามตอบข้อสงสัยต่างๆ หลังออกมาจากห้องตรวจ ก็รับบรีฟจากพยาบาล รับข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการผ่าตัดและคำแนะนำในการปฎิบัติตัวต่างๆ ถ้าเราพร้อมทำเลย คุณหมอก็จะ refer เราไปยังบริษัทที่สั่งผลิตเลนส์ ICL ค่ะ ให้เรานัดหมายได้โดยตรงเพื่อไปตรวจสภาพตากันต่ออีกที่ค่ะ

นัดตรวจสภาพตาเพื่อสั่งตัดเลนส์ ที่ Filtech

Filtech Enterprise 1994 เป็นบริษัทที่นำเข้าเลนส์เข้ามาค่ะ เราต้องเดินทางไปตรวจที่บริษัท เป็นการตรวจเพื่อวัดความยาวของกระบอกตา เราได้นัดในสัปดาห์ถัดไปจากที่เราไปตรวจสภาพตาเลย สตาฟทางฟิลเทคก็ดูแลดีมากๆค่ะ อันนี้ต้องถอดคอนแทคเลนส์ไปก่อนตรวจ 3–5 วัน เช่นเคย ไปถึงก็กรอกชื่อ วันเกิด ชื่อแพทย์ของเรา รพ. ที่ทำ ที่นี่จะตรวจด้วยเครื่องมือรอบเดียว ใช้เวลาไม่นานค่ะ ประมาณ 30 นาทีก็เสร็จ

เข้าไปในห้องเราก็นอนบนเตียงค่ะ หยอดยาชา สักพักก็หยอดน้ำตาเทียมแบบกึ่งเจล แล้วก็จะมีเครื่องมือเหมือนลูกกลิ้งมาวนๆที่ลูกตาเราค่ะ ไม่เจ็บ ไม่ปวด ไม่จั๊กจี้ รู้สึกเย็นๆปกติ แค่ต้องมองตรง จ้องเพดานไว้ค่ะ ถ้าข้างไหนที่เอียงด้วย ก็จะวนๆที่ตาหลายรอบหน่อย เราก็มองไปที่จุดตามเจ้าหน้าที่บอกค่ะ เสร็จแล้วก็จะหยอดยาฆ่าเชื้อ เราถามเจ้าหน้าที่ตรวจว่าผลออกมาโอเคมั้ย เค้าบอกว่าไม่มีปัญหาค่ะ ส่วนใหญ่ก็ผ่านกันทุกคน เดี๋ยวทางฟิลเทคจะส่งข้อมูลไปให้คุณหมอที่เราดูแล เพื่อให้คุณหมอประเมินการรักษาต่อไป แล้วรพก็จะนัดจ่ายค่ามัดจำครึ่งนึง คุณหมอสั่งเลนส์ไปตามสเป็คเรา ของเรารอของประมาณ 2 สัปดาห์ หลังจากมัดจำ (ค่อนข้างไวมาก ปกติ3–3วีค ถูกใจเจ้าแม่พรีออเด้ออย่างดิชั้น) พอได้เลนส์ก็นัดวันผ่าตามสะดวกเราเลย

ทั้งนี้ Process ต่างๆตั้งแต่วัดค่าสายตาไม่ควรเกิน 3 เดือน เพราะไม่งั้นต้องตรวจวัดกันใหม่ว่าสภาพตาเรายังคงที่ไหม

การเตรียมตัว และการตรวจต่างๆ ก็ประมาณนี้ค่า ในขั้นตอนผ่าตัดและรีวิวทุกอย่างเดี๋ยวจะมาเล่าต่อในพาร์ทถัดไปนะคะ ภาวนาขอให้ทุกอย่างราบรื่นดี ไปจนถึงวันผ่าตัดด้วยเถอะ ;-; พลีส

เจอกันในบทความหลังผ่าตัด พร้อมอวัยวะคู่ที่ 33 ในร่างกายค่ะ เย่

เม้ด

--

--